ทำไมต้องสร้าง ประชาคม อาเซี่ยน

 



 "ประชาคมอาเซียน” หากพูดเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว หลายคนคงสงสัยว่าคืออะไร ดูเป็นเรื่องที่ไกลตัวแต่ในวันนี้คงไม่ใช่เรื่องใหม่และไกลตัวเหมือนเช่น อดีตที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากในปี พ.ศ.2558 ประเทศไทยของเราจะเปิดประตูสู่ประชาคมอาเซียน นั่นหมายความว่า ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ไปอีกขั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเราทุกคน หน่วยงานต่างๆ จึงลุกขึ้นมาจัดกิจกรรม ให้ความรู้และแบ่งปันความคิดเห็นในมุมมองต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ที่กำลังจะมาถึง
         ทำไมต้องสร้างประชาคมอาเซียน?
         จากการที่ สถานการณ์โลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาหลายอย่างที่เคยเป็นปัญหาในประเทศกลับขยายวงกว้างขึ้นเป็นปัญหาระหว่าง ประเทศ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคติดต่อ อาเซียนจึงต้องปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที ด้วยเหตุนี้ การผนึกกำลังของอาเซียนซึ่งมีประเทศสมาชิก 10 ประเทศให้เข้มแข็ง ย่อมทำให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและปัญหาท้าทายได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้นำอาเซียน จึงเห็นพ้องกันว่า ควรกำหนดให้มีการสร้างประชาคมอาเซียนบน 3 เสาหลัก ภายในปี 2563 ซึ่งต่อมาเลื่อนให้เร็วขึ้น เป็นปี 2558
          1. ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน
          2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
          3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
           เสาหลักแรก คือ ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน เน้นการรวมตัวของอาเซียน เพื่อสร้างความมั่นใจ เสถียรภาพ และสันติภาพในภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนในอาเซียนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และปราศจากภัยคุกคามจากด้านการทหารและภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ สำหรับประเทศไทย นอกเหนือจากการให้การสนับสนุนและความร่วมมือดังกล่าวแล้ว ยังผลักดันให้เพิ่มบทบาทของประธานในการทำหน้าที่ส่งเสริมความมั่นคงใน ภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมแนวคิด "การทูตเชิงป้องกัน” เพื่อช่วยลดปัญหาความขัดแย้งที่จะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคโดยรวม
           เสาหลักที่สอง คือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เน้นให้ความสำคัญในเรื่องการตลาดและการมีฐานการผลิตร่วมกัน มีการเคลื่อนย้ายสินค้า การบริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินลงทุนอย่างเสรีมากขึ้น มีโครงการเชื่อมโยงเส้นทางหลวงอาเซียน มีความร่วมมือระหว่างประเทศในการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟจากสิงคโปร์ ผ่านไปยังมาเลเซีย ไทย กัมพูชา เวียดนาม และสิ้นสุดที่จีน ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากการขยายฐานการส่งออก และมีโอกาสทางการค้าด้านบริการที่ไทยมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น เช่น ท่องเที่ยว โรงแรมและภัตตาคาร สุขภาพ ฯลฯ
            เสาหลักที่สาม คือ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน มุ่งหวังให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยเน้นการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจระหว่างประเทศสมาชิก ด้วยการเชื่อมโยงด้านประวัติศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ระดับภูมิภาคร่วมกัน
             ปัจจุบันอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การรวมตัวกันอย่างใกล้ชิดทางด้านเศรษฐกิจ รวมไปถึง การขยายความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มโอกาสทางการค้า
และการลงทุนให้กับไทย ด้วยเหตุนี้ ทุกภาคส่วนจึงควรมีการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลัง จะเกิดขึ้นในทุกด้านๆ
            หากทุกคนในประเทศไทยในทุกภาคส่วนพร้อมใจกันก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ด้วยการเตรียมความพร้อมกันมาเป็นอย่างดีแล้ว เราคงจะได้เห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เจริญก้าวหน้าขึ้น อย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น